เดินทางนมัสการพระบรมสารีริกธาตุ พระธาตุท่าอุเทน ที่ อ.ท่าอุเทน -พระธาตุประจำวันศุกร์



พระธาตุท่าอุเทน Phra That Tha  Uthen Temple

           

 มีความรุ่งโรจน์ ดุจดังพระอาทิตย์ขึ้นยามรุ่งอรุณ

 

พระธาตุท่าอุเทน   พระธาตุประจำวันศุกร์ 

 



       แต่ละครั้งที่เดินทาง เข้าตัวจังหวัดนครพนม    เมื่อเข้าเขต อำเภอท่าอุเทน  จะต้องคอยมองมาฝั่งด้านขวามือ     จากถนนหลวง  เมื่อพอมองเห็นองค์พระธาตุ   ในระยะที่ใกล้ที่สุด   จะต้องยกมือก้มศรีษะ  เพื่อกราบไหว้นมัสการองค์พระธาตุ  ทุกครั้งไป  ในความตั้งใจ คือ  ต้องมีสักวันที่จะเข้ากราบไหว้นมัสการองค์พระธาตุ ภายในที่ตรงประดิษฐานให้ได้  สักครั้ง ในชีวิต 


เมื่อมีโอกาศตั้งใจกราบไหว้องค์พระธาตุ     แน่นอน เปิด  google   map  วัดพระธาตุท่าอุเทน  ซึ่งเป็นตัวช่วยสำหรับนำทาง  เพราะยังไม่เคยไป  จากถนนหลวง   เดินทางเข้าสู่เขต วัดท่าอุเทน ที่ประดิษฐาน ก็ไม่ไกลเลย  

สถานที่จอดรถ จะอยู่ติดริมฝั่งแม่น้ำโขง  ตรงข้ามกับวัดพระธาตุท่าอุเทน  
หลังจาก จอดรถเรียบร้อย  เดินข้ามฝั่งถนน  เพื่อเข้าสู่เขตวัดพระธาตุท่าอุเทน  ที่ประดิษฐานองค์พระธาตุ


  • สถานที่ตั้ง   

ประดิษฐานอยู่ที่วัดพระธาตุท่าอุเทน ริมฝั่งแม่น้ำโขง ในเขตอำเภอท่าอุเทน 

ห่างจากตัวจังหวัดนครพนม    26  กิโลเมตร   หรือจากอำเภอบ้านแพง ประมาณ  68  กิโลเมตร    

   

  • ประวัติพระธาตุท่าอุเทน 


สร้างในปี  พุทธศักราช  2454   โบราณสถานสำคัญภายในวัด คือ พระธาตุท่าอุเทน    มีประวัติสร้างเมื่อปี พุทธศักราช    2454-2459  โดยท่านหลวงปู่ สีทัตถ์ ญาณสัมปันโน  จำลองมาจากพระธาตุพนม  แต่มีขนาดเล็ก และสูงกว่าพระธาตุพนม  หันไปทางทิศเหนือของพระธาตุพนม โดยความสูงจากพื้นดินถึงยอด  33 วา  ฐานกว้างด้านละ  6 วา 3 ศอก    ภายในเจดีย์บรรจุ  พระบรมสารีริกธาตุ ซึ่งอัญเชิญมาจากเมืองย่างกุ้ง  ประเทศเมียนมาร์   

ในประวัติจากจารึกวัดพระธาตุท่าอุเทน  ที่วัดอรัญะ  กล่าวว่า พระครูสีทัตถ์ พร้อมพระสงฆ์ และสามเณรทั้งปวงบรรดาที่เป็นสานุศิษย์  ได้พร้อมเพรียงกันสร้างพระบรมธาตุองค์นี้ไว้ เพื่อเป็นที่ไหว้และสักการบูชาแด่เทวดา และคนทั้งหลายทั้งปวง

 










ตอนหนึ่งในคำอ่านเป็นภาษาไทย จารึกวัดพระธาตุท่าอุเทน     จำนวน  26  บรรทัด     
ที่วัดอรัญะ (๑ )
วาสีท่าอุเทน (๒)
ศรีสิทธิเดชลือชา   บัดนี้อาตมาจัก (๓)
ว่าในเรื่องสร้างพระบรมพระพุทธธาตุพุทธศังกาธได้ (๔)
 ๒๕๕๓  พระวรรษามีท่านพระครูสีทัตถ์เป็นเจ้าศรัทธาทาน  (๕ )
ท่านปรารถนาพระโพทิพญาณในอนาคตกาลกายภาค (๖ )
ครั้งหน้าจึงพาพระสงฆ์และสามเณรทั้งปวงบรรดาที่เป็นสานุศิษย์ (๗)
ของท่านได้พร้อมเพรียงกันสร้างพระบรมธาตุองค์นี้ไว้เพื่อเป็น  (๘ )
ที่ไหว้และสักการบูชาแด่เทวดาและคนทั้งหลายทั้งปวงพวกข้าพเจ้า (๙ )
ได้สร้างแต่ปีกุนเดือน ๓แรม๙ค่ำ  ได้ขุดหลุมและก่ออูบมุง เดือน ๔  ขึ้น ๑๕  ค่ำได้ (๑๐ )
บรรจุพระบรมธาตุสมโภชครั้ง ๑  ตั้งแต่นี้ถึงปีเถาะเดือน ๓แรม ๘ค่ำได้ยกเศวต (๑๑)
ฉัตรขึ้นใส่ยอด   เดือน๔ ขึ้น  ๑๕ ค่ำ สำเร็จองค์พระบรมธาตุพุทธศังกาธได้ ๒๔  (๑๒)
๕๙พรรษ ปีมะโรง สำเร็จกำแพงลบจบบริบูรณ์ได้ดังคำมักคำปรารถนาพวก    (๑๓)
ข้าพเจ้า  แต่ข้าพเจ้าสร้างอยู่มีแต่พญามารและคนพาลมาบังเบียดท่านพระครู (๑๔)
สิทัตถ์ท่านบ่โกรธท่านตั้งต่อพระโพธิญาณและเมตตาท่านจึงไม่จาคำแข็งตอบ  (๑๕)
มารและคนพาลฝูงนั้นพวกข้าทั้งหลายปรารถนายอดแก้วนิรพานอย่ามีมาร (๑๖)

   ภายในองค์พระธาตุบรรจุ พระพุทธสารีริกธาตุ  ซึ่งอัญเชิญพระพุทธสารีริกธาตุจากเมืองย่างกุ้ง  ประเทศพม่า ประดิษฐานบรรจุพระบรมธาตุ ในองค์พระธาตุ  รวมทั้งของมีค่า บรรจุถวายไว้  องค์พระธาตุแบ่งเป็น 3 ชั้น  ลักษณะสถาปัตยกรรม เป็นทรงบัวเหลี่ยม  ในผังสี่เหลี่ยมจตุรัส     ล้อมรอบด้วยกำแพงแก้ว   วัสดุใช้คอนกรีตเสริมเหล็ก   ส่วนฐานเป็นมณฑปซ้อนกัน  2 ชั้น  

ตอนกลางแต่ละด้านของมณฑป ทำเป็นประตูหลอก  เหนือประตุมณฑปคดโค้ง  คล้ายฝักเพกา 5 ใบ    

ที่มุมมณฑปตกแต่งปูนปั้นประดับกระจกสี   ลายพันธ์  พฤกษา บุคคล  และสัตว์ต่างๆ     เหนือมณฑปเป็นฐานบัวท้องไม้ลูกแก้วอกไก่  1 ชั้น ประดับกระจกเป็นลายตารางไขว้กัน    

  ส่วนตอนกลางเป็นบัวเหลี่ยมประดับปูนปั้น ลายดอกจอก    
ส่วนยอดเป็นฐานบัวไม้ลูกแก้ว  อกไก่แบบฐานเอวขันรับปลียอดทรงบัวเหลี่ยมและฉัตร  
   เอกลักษณ์ของวัดพระธาตุท่าอุเทนคือ  การแสดงให้เห็นความนิยมของท้องถิ่น   ในการสร้างพระธาตุเจดีย์ ตามแบบพระธาตุพนมวรมหาวิหาร   ในพุทธศตวรรษที่ 25    ซึ่งเป็นหลักฐานสำคัญที่แสดงรูปแบบ   พระธาตุพนมวรวิหาร  ก่อนที่จะพังลงมาในปี   พุทธศักราช   2518   
กรมศิลปากร ประกาศขึ้นทะเบียนโบราณสถานวัดพระธาตุท่าอุเทน ในราชกิจจานุเบกษา   วันที่  24 มกราคม  2551      ได้รับการบูรณะครั้งหลังสุดในปี   2560 

พระธาตุท่าอุเทน  เป็นพระธาตุประจำวันเกิด  วันศุกร์  บุคคลใดได้มีโอกาศไปนมัสการพระธาตุแห่งนี้  กล่าวกันว่า จะได้รับอานิสงค์ชีวิตมีความรุ่งเรืองรุ่งโรจน์ ดุจดังพระอาทิตย์ขึ้นยามรุ่งอรุณ  ซึ่งพระธาตุท่าอุเทน  หันไปทางทิศเหนือของพระธาตุพนม  ตรงกับทิศประจำของพระศุกร์   นอกจากนี้ ทิศเหนือ ยังเป็นทิศประจำของพระโมคคัลลานะ    พระอรหันต์ประจำทิศเหนือ  ผู้เปี่ยมด้วยอิทธิฤทธิ์ปาฏิหาริย์  ด้านขวา  เป็นทิศตะวันออก ติด แม่น้ำโขง  





คาถาบูชาพระธาตุท่าอุเทน  สำหรับบุคคลที่เกิดวันศุกร์    คือ                                   วา โธ โน อะ นะ มะ วา


สิ่งของบูชา   คือ  ข้าวตอก น้ำอบ  ข้าวเหนียวปิ้ง   ดอกไม้สีน้ำเงินหรือฟ้า  ธูป 21 ดอก  เทียน 2 เล่ม 


  • การเดินทาง   

           ประชาชน พื้นที่ใกล้ ไกล  สามารถเดินทางมาได้ทั้ง รถยนต์  มอเตอร์ไซต์   จักรยาน  หรือรถโดยสาร โดย มีพื้นที่จอดรถ  ที่บริเวณติดริมฝั่งแม่น้ำโขง  และสามารถเดินข้ามถนน เพื่อเดินทางเข้าไปนมัสการองค์พระธาตุได้เลย    หรือกรณีไม่ใช่รถส่วนตัว   สามารถเดินทางโดยรถโดยสารที่มี ในอำเภอท่าอุเทน  รถสามล้อ  หรือรถตุ๊กตุ๊ก  ระบุ จุดหมายปลายทาง  วัดพระธาตุท่าอุเทน  




พระธาตุท่าอุเทน พระธาตุประจำวันศุกร์









2 ความคิดเห็น: